สื่อที่ใช่ ของใครที่ชอบ : การ์ตูน โทรทัศน์ท้องถิ่น แฟนคลับ

ผู้แต่ง :  กาญจนา แก้วเทพและคณะ

ปีที่พิมพ์ : 2555

เลขเรียกหนังสือ : 791.45  ก425ส

ผู้เขียนขโมยชื่อหนังสือเล่มนี้มาจากชื่อของรายการวิทยุคลื่นหนึ่ง เนื่องจากรู้สึกว่า ชื่อนี้ หากพูดให้เป็นทางการหน่อย ก็อาจจะพูดว่า เป็นชื่อที่สามารถประมวลสรุปแนวคิดหลักทั้งหมดที่แฝงอยู่ในบทความทั้ง 3 ชิ้นของหนังสือ คือเรื่องการ์ตูน โทรทัศน์ท้องถิ่น และแฟนคลับ และหากพูดเป็นภาษาชาวบ้านแบบวัยรุ่นหน่อยๆ ก็อาจจะพูดว่า ชื่อนี้ ช่างเป็นชื่อที่โดนใจ ใช่เลย ทั้งนี้ เพราะเนื้อหาของชิ้นงานทั้ง 3 ชิ้นนี้ แม้ว่าเมื่อมองดูแบบเผินๆ อาจจะยังนึกไม่ออกว่า การสื่อสารในทั้ง 3 รูปแบบนี้จะมาขึ้นเวทีหรือมารวมกันอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกันได้ยังไง แต่ทว่า เมื่อเพ่งดูอย่างพินิจพิจารณาแล้ว ก็จะพบว่า ระหว่างรูปแบบการสื่อสารทั้ง 3 แบบนี้ มีเส้นด้ายเส้นบางๆ ร้อยเชื่อมอยู่ เส้นด้ายที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสรู้สึกได้นั้นมีชื่อนามว่า “ความรู้สึกเป็นเจ้าของ” (sense of belonging) เมื่อลองพลิกอ่านดูเนื้อหาเรื่องราวของงานเขียนทั้ง 3 ชิ้น ผู้อ่านก็จะพบว่า แนวคิดเรื่องความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของจะโผล่หน้าออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องของการ์ตูนที่เด็กๆ รักใคร่ ตัวการ์ตูนบางตัวถึงขั้นยึดถือเป็นวีรบุรุษประจำใจ ไปจนถึงกระทั่งโทรทัศน์ท้องถิ่นที่หากขาดความรู้สึกผูกพันจากท้องถิ่นแล้ว ก็แทบจะดำรงคงอยู่ต่อไปไม่ได้ นอกจากปรากฏการณ์แบบทั่วๆ ไปแบบว่า “สื่อของใคร ของใครก็ห่วง” ให้เกิดกับสื่อทั้ง 3 ประเภท คือการ์ตูน (ซึ่งดูเป็นเรื่องของเด็กๆ) โทรทัศน์ท้องถิ่น (ที่เกิดก็ไม่ง่าย แต่ตายได้เร็วจัง) และแฟนคลับ (ที่ในสายตาคนที่ไม่เป็นแฟนจะดูเหมือนเป็นกลุ่มชนของคนสิ้นคิด) เนื้อหาในงานเขียนทั้ง 3 ชิ้น ก็จะพาผู้อ่านเฉียดฉิวเข้าไปในซอกหลืบทางวิชาการที่เราอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามมาก่อน