ผู้แต่ง : จิรากรณ์ คชเสนี
ปีที่พิมพ์ : 2555
เลขเรียกหนังสือ : 304.2 จ531ม
พัฒนาการที่เกิดขึ้นในการพิมพ์ครั้งที่ 7 เป็นวงจรการพัฒนามนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทุกรอบ 2 ปี คือ การอ่านทานเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์กรอบแนวคิด หลักการ เหตุผล และเนื้อหาสาระของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ทุกบท ทุกตอน มหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ซึ่งดูเหมือนมีความถี่ของการเกิดและความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ คำถามคือ มนุษย์ควรจะต้องทำอย่างไร ซึ่งคำตอบตั้งอยู่บนพื้นฐานการปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรม สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ที่ต้องเกี่ยวข้องกับความเปราะบางความยืดหยุ่น และความสามารถปรับตัว ที่ได้มีการวิเคราะห์เพิ่มไว้ในหัวข้อความเปราะบางความยืดหยุ่น ความสามารถปรับตัว การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลก ในบทที่ 3 พร้อมทั้งใช้กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น วิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นบทเรียน ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ในทุกหัวข้อตามความเหมาะสม บทที่ 4 และ 5 มีพัฒนาการดังนี้คือ การเพิ่มหัวข้อดัชนีปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม ที่เป็นความริเริ่มทางวิชาการของสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ประเมินผลการพัฒนา ซึ่งมีความน่าสนใจและมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์สูงมาก และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการพัฒนาที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางนิเวศเป็นสำคัญ ในบทที่ 4 พัฒนาหัวข้อความยากจน การพัฒนากับสิ่งแวดลิ้ม ไปเป็นความยากจน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งย้ายจากบทที่ 4 ไปอยู่บทที่ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ ในบริบทที่เป็นจริงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หัวข้อโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินร่วม มีการเพิ่มทฤษฎีความร่วมแรงร่วมใจทำของลีไลนอร์ ออสตอร์ม ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2551 ที่คัดค้านแนวคิดโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินร่วมของแกเรตต์ ฮาร์ดิน ซึ่งกรอบแนวคิดและทฤษฎีทั้ง 2 มีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บทที่ 6 การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค จนถึงระดับโลก นอกจากปรับปรุงเนื้อหาสาระในบทแล้ว ยังเพิ่มหัวข้อกรอบนโยบายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการอนุรักษ์ ซึ่งผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษในปัจจุบัน และเป็นประเด็นหลักของสังคม ในบทที่ 7 มีการเพิ่มหัวข้อนิเวศวิทยาแนวลึกและนิเวศรัฐ ซึ่งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีแนวคิดทางนิเวศวิทยาเป็นพื้นฐาน เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่รัฐในอุดมคติที่มีความจีรังยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งได้แก่ “นิเวศรัฐ –Ecotopia”